วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

การขาดสภาพคล่อง

“ขาดสภาพคล่อง” เป็นหนึ่งในปัญหายอดฮิตสำหรับคนทำธุรกิจในเวลานี้ อันเป็นผลจากยอดขายที่ลดลง จากกำลังซื้อในตลาดที่หายไป เรามาลองมาดูกันว่าเหล่ามืออาชีพทางการเงินของโลก เขามีเทคนิคจัดการเรื่องสภาพคล่องทางการเงินกันอย่างไร 
สภาพคล่องทางการเงิน(Liquidity หรือ Financial Liquidity) หมายถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น(Current Liabilities) ของกิจการ หรือพูดง่ายๆ ก็คือความสามารถที่จะคืนเงินกู้อันเป็นเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจที่จะครบกำหนดชำระภายใน 1 ปีนั่นเอง
สภาพคล่องทางการเงิน เกี่ยวข้องกับความสำเร็จและล้มเหลวของกิจการหรือโครงการลงทุน อย่างใกล้ชิด ขนาดที่คนจำนวนมาก คาดคิดไม่ถึงกัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการล่มสลายหรือล้มครืนของธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกือบทั้งหมด สาเหตุจริงๆ ล้วนเกิดจากปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินเป็นสำคัญ ส่วนเหตุผลอื่นๆ เช่นเรื่องการขาดทุน หรือส่วนของเจ้าของติดลบ ล้วนเป็นเพียงปัญหาปลีกย่อยระดับรองๆ ลงมาเท่านั้น
ดังจะเห็นได้จากกิจการที่ปิดตัวลงจำนวนมาก ทั้งในบ้านเราและในต่างประเทศ ถ้าหากมีโอกาสตรวจดูงบการเงินของกิจการเหล่านั้นแล้ว จะรู้สึกประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่า งบการเงิน กลับไม่มีสัญญาณหรือวี่แววบ่งบอกให้เห็นว่ากิจการจะต้องล่มสลายมาก่อนแต่อย่างใด ที่แปลกมากไปกว่านั้น ก็คืองบการเงินของกิจการหลายแห่งยังแสดงว่ายังคงมีกำไรอยู่ และหากดูจากงบดุล ก็จะเห็นส่วนของเจ้าของ ที่ยังมีค่าเป็นบวกอยู่จำนวนมาก 
ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้กิจการเหล่านั้น จำต้องปิดกิจการลงก่อนเวลาอันสมควร ล้วนมาจากเหตุผลคล้ายๆ กัน คือประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นให้กับเจ้าหนี้ได้ จนถูกฟ้องร้อง และถูกขึ้นบัญชีดำ ทำให้ไม่มีเงินทุนหมุนเวียนในการนำมาใช้ในการดำเนินงานอีกต่อไป
สภาพคล่องทางการเงิน จึงไม่ต่างอะไรกับกุญแจดอกสำคัญ ที่จะนำพาธุรกิจหรือโครงการลงทุนให้ประสบความสำเร็จตามที่มุ่งหวังได้ ทั้งนี้ในทางปฏิบัติแล้ว สภาพคล่องทางการเงิน จะเกี่ยวพันและเชื่อมโยงกับความเป็นไปของกิจการ ในลักษณะดังต่อไปนี้
o สภาพคล่องทางการเงินเป็นตัววัดสุขภาพของธุรกิจ ว่าอ่อนแอหรือเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด และเป็นตัวชี้ให้ทราบถึงข้อบกพร่องด้านต่างๆ ที่กิจการกำลังประสบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความอ่อนแอทางด้านการตลาด ด้านการผลิต ด้านการบริหารงานบุคคล หรือความสามารถของฝ่ายจัดการ
o ธุรกิจที่มีสภาพคล่องที่ดี ย่อมอยู่ในฐานะที่มีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน ได้ดีกว่าธุรกิจที่ขาดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น(Insolvency) ทั้งนี้การมีสภาพคล่องที่ดีช่วยให้ธุรกิจแข็งแรงและมีกำลังวังชาดีขึ้น เสมือนโลหิตที่หล่อเลี้ยงกิจกรรมในแต่ละวันของธุรกิจ
o การขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงมากๆ อาจนำไปสู่การล้มเหลวของกิจการได้ง่ายๆ แม้ว่าธุรกิจนั้นจะมีกำไรทางบัญชี หรือมีสินทรัพย์หรือส่วนของเจ้าของ(Owner’s Equity)มากมายใหญ่โตแค่ไหนก็ตาม
ปกติแล้ว วิธีการตรวจเช็ค เพื่อทราบสภาพคล่องทางการเงินว่าอ่อนแอหรือเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด สามารถกระทำได้ 3 วิธี ด้วยกัน กล่าวคือ
1. ตรวจเช็คผ่านฐานะเงินสดของกิจการ โดยดูจากงบกระแสเงินสด(Cash Flow Statement) ซึ่งงบพิเศษตัวนี้ จะบอกให้ทราบถึงสถานะเงินสด ว่าขณะนี้มีอยู่เท่าไหร่ และแหล่งที่มาของเงินสดมาจากไหนบ้าง และเงินสดที่ได้มา ถูกใช้ไปในกิจกรรมอะไรบ้าง ทั้งนี้กิจการที่มีสภาพคล่องทางการเงินดี ควรเป็นกิจการที่มีเงินสดอยู่พอเพียงใช้ในการดำเนินการ และแหล่งที่มาและแหล่งที่ใช้ไปของเงินสด จะต้องมาจากกิจกรรมการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ
ข้อดีประการหนึ่งของการตรวจเช็คสภาพคล่องด้วยวิธีนี้ ก็คือสามารถตรวจเช็คได้ทั้งกิจการของตัวเอง และกิจการของคนอื่น(ตรวจเช็คของคนอื่นเพื่อร่วมลงทุน ซื้อหุ้น หรือพิจารณาปล่อยเครดิตให้) แต่ปัญหา ก็คืองบกระแสเงินสด เป็นงบพิเศษซึ่งจะมีการจัดทำกันเฉพาะกิจการในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ส่วนกิจการทั่วไป ไม่มีการจัดทำกัน ดังนั้นถ้าต้องการใช้งบตัวนี้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดทำขึ้นมาเอง โดยอาศัยข้อมูลจากงบกำไรขาดทุนและงบดุลของกิจการ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การจัดเตรียมทำได้ไม่ยาก แต่หากใครไม่ถนัดจริงๆอาจใช้วิธีไหว้วานให้นักบัญชีหรือนักการเงิน ช่วยเตรียมให้ก็ได้ ก็จะทำให้เห็นภาพสภาพคล่องของกิจการชัดเจนขึ้น
2. ดูจากงบประมาณเงินสด(Cash Budget) โดยประมาณการเงินสดรับ(Cash Receipts) เงินสดจ่าย(Cash Disbursements) และคำนวณหาเงินสดสุทธิในแต่ละงวดเวลา(Net Change in Cash for the Period) เพื่อหาความต้องการใช้เงินในแต่ละงวดเวลา(New Financing Needed)
การตรวจเช็คสภาพคล่อง โดยตรวจดูจากงบประมาณเงินสด จัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสะท้อนภาพฐานะเงินสดในอนาคต ให้ทราบว่ามีเงินเหลือ เงินขาด และวิธีการจัดการเงินสด ได้อย่างชัดเจน ซึ่งผิดกับการดูจากงบกระแสเงินสดที่สะท้อนภาพได้เฉพาะช่วงเวลาในอดีตเท่านั้น อย่างไรก็ตามวิธีการนี้มักมีข้อจำกัดคือ ตรวจเช็คได้เฉพาะกิจการของตัวเองเท่านั้น ถ้าไม่ใช่กิจการของตัวเอง ปกติจะใช้วิธีนี้ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะจัดเตรียมงบประมาณเงินสดขึ้นมาได้
3. ตรวจเช็คสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านการวิเคราะห์จากงบดุลของบริษัท โดยใช้อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญบางตัว การตรวจเช็คสภาพคล่องทางการเงินด้วยวิธีนี้ ข้อดีก็คือสามารถตรวจเช็คบริษัททั่วไปได้อย่างกว้างขวาง และเป็นวิธีที่ง่าย ใครๆ ก็ทำได้ โดยอัตราส่วนทางการเงินที่นิยมใช้กัน ก็คือ
3.1 Current Ratio โดยนำเอาสินทรัพย์หมุนเวียนตั้ง หารด้วยหนี้สินหมุนเวียน ปกติ ค่าที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไป ของอัตราส่วนตัวนี้ ก็คืออย่างน้อยต้องมากกว่า 1 โดยยึดหลักยิ่งได้ค่านี้สูงมากเพียงใด ก็จะยิ่งดีขึ้นเพียงนั้น
3.2 Acid-test หรือ Quick Ratio หาได้โดยนำสินทรัพย์หมุนเวียนตั้ง หักออกด้วยสินค้าคงเหลือ ได้เท่าไหร่แล้วนำมาหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน อัตราส่วนทางการเงินตัวนี้ ปกติเกณฑ์ที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ก็คือคำนวณแล้ว ต้องออกมาอย่างน้อยเท่ากับ 1
ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอกับกิจการทุกแห่ง หรือในโครงการลงทุนทุกโครงการ ส่วนใหญ่ปัญหาการขาดสภาพคล่อง อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
ก. การจัดเก็บหนี้ของธุรกิจอาจมีปัญหา กล่าวคือหนี้สูญมาก สินค้าที่ขายเงินเชื่อไปจัดเก็บเงินไม่ได้ตามเป้าหมาย ใช้ระยะเวลายาวนานมากเกินกว่าปกติ ซึ่งกรณีนี้อาจสืบเนื่องจากลักษณะประเภทธุรกิจที่มีเครดิตเทอมยาวนานมากๆ
ข. เครดิตเทอมที่ได้รับจากเจ้าหนี้การค้า(Account Payable) อาจสั้นกว่าที่กิจการขายให้กับลูกค้าของตนเช่น อาจต้องซื้อวัตถุดิบด้วยเงินสดหรือเงินเชื่อเพียง 15 วัน แต่อาจต้องขายสินค้าสำเร็จรูปเป็นเงินเชื่อยาวนานถึง 3 เดือนเป็นต้น ซึ่งภาวะเช่นนี้ภาษาทางการเงินเรียกว่า Maturity Mismatching
ค. การคาดการณ์ของภาวะตลาดผิดพลาด อาจนำไปสู่การผลิตและเก็บรักษาสินค้าคงเหลือในมูลค่าและปริมาณที่มากเกินไป ทำให้เงินทุนส่วนใหญ่จมอยู่กับสินค้าคงเหลือ
ง. ขาดระบบบัญชีและการควบคุมที่ดี เงินรั่วไหลมาก แม้ว่าจะมีรายได้ในรูปเงินสดรับเข้ามามากเพียงพอก็ตาม แต่เนื่องจากมีรูรั่วมาก จึงทำให้มีรายการจ่ายที่ไม่จำเป็นและรู้เท่าไม่ถึงการณ์จำนวนมาก
แม้ว่าปัญหาการขาดสภาพคล่อง จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอกับการทำธุรกิจและการลงทุน และการตรวจเช็คสภาพคล่องทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ อาจช่วยให้สามารถเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ก็ตาม แต่ในมุมมองของการบริหารจัดการแล้ว การรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อน แล้วค่อยทำการแก้ไข ไม่ใช่เป็นแนวทางที่เหมาะสมแต่อย่างใด ทั้งนี้แนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ควรต้องเน้นบริหารงานอย่างระมัดระวังตั้งแต่ต้น โดยคำนึงถึงการจัดการสภาพคล่องอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ซึ่งทางการเงินแล้ว มีกลยุทธ์ง่ายๆ ในการบริหารสภาพคล่อง ในลักษณะ “กันไว้ดีกว่าแก้” ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังต่อไปนี้
1. พยายามยืดเวลาการจ่ายเงินสดออกไป ให้นานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาจจะด้วยการจ่ายเช็คเงินสดล่วงหน้าไปช่วงหนึ่งแทนการจ่ายด้วยเงินสด
2. ระมัดระวังในการให้เครดิตกับลูกค้า และผู้ซื้อสินค้าจากบริษัท ลดระยะเวลาให้เครดิตให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการให้ส่วนลดพิเศษกับลูกค้าที่จ่ายชำระเงินก่อนกำหนด เพื่อจูงใจให้ลูกค้ารีบนำเงินสดมาลดยอดหนี้ในบัญชีลูกหนี้การค้า
3. ใช้ประโยชน์จากเงินของเจ้าหนี้การค้าให้นานและมากที่สุด ด้วยการขอเครดิตเทอมจากผู้จำหน่ายวัตถุดิบให้กับกิจการ เช่นอาจซื้อวัตถุดิบโดยการขอเงินเชื่อ 2 เดือน 3 เดือนเป็นต้น ให้ระลึกไว้เสมอว่าบัญชีเจ้าหนี้การค้านี้ เป็นเงินทุนระยะสั้นที่ได้มาฟรีๆ(Spontaneous Fund) ที่สำคัญมากแหล่งหนึ่งของธุรกิจ
4. เจรจากับธนาคาร ขอทำวงเงินเครดิตระยะสั้นเผื่อไว้ใช้สำรองยามฉุกเฉิน เช่นวงเงินเบิกเกินบัญชี(O/D) วงเงินขายลดเช็ค เป็นต้น ทั้งนี้เพราะว่ายามจำเป็นจริงๆแล้ว แหล่งเงินแหล่งนี้ จะช่วยประคับประคองธุรกิจได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกฤตที่ธุรกิจต่างๆประสบปัญหาคล้ายๆ กัน ธุรกิจที่ดีจะต้องสำรองวงเงินดังกล่าวนี้ไว้เสมอ
5. หนี้สินระยะสั้น ควรใช้เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ระยะสั้น หรือสินทรัพย์หมุนเวียนเท่านั้น ไม่ควรกู้มาเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ระยะยาว

โดย อาจารย์อนุชา กุลวิสุทธิ์
แหล่งอ้างอิง https://www.facebook.com/anuchakullvisoot/posts/1577417465860364